Green Life Cycle, Cost & Our Responsibility | วงจรชีวิตอย่างสีเขียว การลงทุนและความรับผิดชอบ
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้สอนหนังสือนักศึกษาสถาปัตยกรรม ปริญญาโทของมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่งเกี่ยวกับนวตกรรมเทคโนโลยี เพื่อบ้านเมืองสีเขียว โดยยกตัวอย่างของแนวทางการประเมิน ความเป็นสีเขียวของอาคาร และเน้นว่าให้มองโดยองค์รวม โดยไม่จำเพาะ เจาะจงเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และให้กลับไปคิดต่อว่า เรายังสามารถคิดค้นด้วยความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ อีกมากมาย และเรามีพลังงานที่ได้ฟรีๆจากธรรมชาติ ที่สามารถหมุนเวียนมาให้ใช้ ได้อยู่เรื่อยๆ (Renewable Energy)
ในตอนท้ายของการชั้นเรียน มีคำถามที่น่าสนใจมาจากนักศึกษา ที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้ คำถามแรกที่ว่า การลงทุน หรือต้นทุน ในการก่อสร้่าง (หรือดัดแปลง) สิ่งก่อสร้าง ให้มีความเป็นมิตร ต่อสภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นการลงทุนที่สูงเกินกว่าการก่อสร้างอาคาร โดยปรกติที่เราๆทำกันอยู่ทุกวันนี้หรือไม่ แล้วถ้ามีมูลค่าสูงกว่าเราจะทราบ ได้อย่างไรว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนคำถามถัดมามีความน่าสนใจไม่แพ้กัน นักศึกษาถามขึ้นว่า ที่มีคนบอกว่าปัญหาสภาพแวดล้อมนี้มันแก้ไม่ได้แล้ว ต่อให้สร้างหรือช่วยอย่างไรก็คงไม่มีผลแล้ว ที่ว่านั้นเป็นจริงหรือไม่แล้ว เราควรจะให้คำปรึกษาแก่เจ้าของโครงการอย่างไร
ในคำถามแรกนั้นโดยทั่วไปเราจะรู้สึกว่าของที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมัก จะมีราคาแพงกว่า แต่ต้องต้องตอบว่า ไม่จริง โดยเฉพาะในการเปรียบเทียบ ของการลงทุน เราต้องนึกไปถึงระยะเวลาในการใช้งานและอายุขัยของมัน ที่ไม่ใช่แค่การลงทุนขั้นต้น แต่ยังต้องรวมไปถึงแค่ใช้จ่ายต่อๆมา และรวมถึงค่าบำรุงรักษา ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเห็นกันทั่วไป
ตัวอย่างเช่น หลอดประหยัดไฟกินไฟกับหลอดไส้
- หลอดไส้ปัจจุบันกินไฟ 60 วัตต์ราคา 20 บาทใช้งานได้ 1000 ชั่วโมง ถ้าเปิดทั้งวันทั้งคืน 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งเดือน (720 ชม.) จะต้องเปลี่ยนทุกๆเดือนครึ่ง
- ส่วนหลอดประหยัดไฟกินไฟประมาณ 12 วัตต์ ราคา 120 บาทใช้งานได้ 10,000 ชั่วโมงเปิด24ชั่โมงได้นานถึง13เดิือนครึ่ง (ต้องเปลี่ยนหลอดไส้ถึง 9 ครั้ง 180 บาท)
ส่วนค่าไฟต่อเดือน ถ้าสมมติหนึ่งหน่วย(กิโลวัตต์) ราคา 3 บาท
- หลอดไส้กินไฟ 60/1000 คูณ720ชม.คูณ 3 บาทเป็นค่าไฟประมาณ130 บาท/เดือน
- หลอดประหยัดไฟ 12/1000 คูณ720ชม.คูณ 3 บาทเท่ากับค่าไฟ 26 บาท/เดือน ถูกกว่าถึง 6 เท่าต่อเดือน
นี่เป็นการเทียบเพียงแค่หนึ่งหลอดยังไม่รวมสิ่งอื่นๆในบ้านเรือน แต่เรามักจะเทียบกันที่ค่าลงทุนขั้นต้น ณ วันที่ซื้อโดยไม่ได้นึกถึงความคงทนถาวร (ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของความเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม) และค่าบำรุงรักษาค่าใช้จ่ายที่ติดตามมา (Operation & Maintenance) มักจะคุุ้มทุนกว่าในระยะยาว
ส่วนในคำถามที่สอง คงไม่มีใครคนใดสามารถระบุได้ว่าสิ่งที่ทั่วทั้งโลก พยายามช่วยกัน รณรงค์ส่งเสริมสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นกับสภาพแวดล้อม จะช่วยได้อย่างจริงจังแค่ไหนและจะเห็นผลได้เมื่อไหร่ เราคงไม่สามารถคาดการณ์ของสิ่งที่กำลังทำได้ แต่เราเรียนรู้แล้วว่า สิ่งที่ทำมาในอดีต มันส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นทุกวันๆ และเห็นกับตาของเราเอง
จึงมีคำถามที่อยากฝากกลับไปก็คือ ในเมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่ทำมาก่อมันไม่ดีต่อเรา ต่อคนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมนั้น เรายังจะคงกระทำต่อไปเรื่อยๆอีกหรือ (เหมือนกับรู้ว่าหลอดไส้มันไม่ประหยัดไฟแต่ก็ยังใช้อยู่) พวกเราไม่ต้องห่วงอนาคตสภาพแวดล้อมของลูกของหลานของพวกเรา หรืออย่างไร สำหรับในฐานะนักศึกษา สถาปนิก หรือนักออกแบบอื่นๆ เมื่อเรารู้ผลกระทบที่ไม่ดีของสิ่งที่ทำกันมาในอดีต เราจะยังควรกระทำ ต่อไปเรื่อยๆอีกหรือ ถึงแม้มันจะไม่เป็นข้อกำหนดหรือจรรยาบรรณใดๆมาก่อน แต่เราก็น่าจะนำมาตระหนักและให้ความรู้แก่เจ้าของงาน เจ้าของบ้านเรือน เจ้าของอาคาร ว่าทำไมมันเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะสุดท้ายพวกเราทั้งหมด ก็อาศัยอยู่บนโลกในเดียวกัน เราน่าจะ่ทำให้มันน่าอยู่และเป็นมิตรกับทุกๆคน ไม่ใช่หรืออย่างไร
…
cr: อ.อุ๋ย